โควิด ระลอก 3 ดุ! สธ.เปิดสถิติ 54 ราย พบติดเชื้อ-ตายภายในวันเดียว

+

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดสถิติผู้เสียชีวิต 3 ระลอก ชี้ระลอกสามแรงสุด พบผู้ป่วย 54 ราย ตายภายในวันเดียว หลังพบว่าติดเชื้อ สลด! หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 

วันที่ 28 พ.ค. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรวม 3,759 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 2,465 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,294 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,044 ราย ผู้ป่วยสะสม 116,113 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย

ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันนี้มีรายงานตัวเลข พบผู้ติดเชื้อ 973 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 34 ราย อยู่ใน กทม.ถึง 24 ราย มีค่ากลางอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 69 ปี (33-92 ปี) และวันนี้มีผู้ตั้งครรภ์เสียชีวิตด้วย 1 ราย

และในจำนวนวันของการเสียชีวิตหลังจากทราบว่าป่วยติดเชื้อโควิด มีถึง 8 รายที่เสียชีวิตในสัปดาห์เดียว และผู้ที่รักษาตัวอยู่ใน รพ.นานสุดคือ 49 วัน ก่อนที่จะเสียชีวิต

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า วันนี้กรมควบคุมโรค ได้ทำสรุปการวิเคราะห์การเสียชีวิตทั้ง 3 ระลอกที่ผ่านมาพบว่าการเสียชีวิตในระลอกแรก มกราคม-14 ธันวาคม 2563 อัตราผู้เสียชีวิต 100 ราย อยู่ที่ 1.42% ระลอกที่สอง 15 ธันวาคม 2563 – มีนาคม 2564 อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.14% และระลอกที่สาม 1 เมษายนถึงปัจจุบัน อัตราผู้เสียชีวิตขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% เกือบเท่าระลอกแรก

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ส่วนอายุผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ระลอก กลุ่มอายุผู้ที่มีความเสี่ยง จะเป็นกลุ่มอายุเกิน 60 ปี จะเห็นว่าระลอกแรกผู้ที่เสียชีวิตมีมากถึง 70% ระลอกสอง 76% และระลอกสามสูงถึง 82%

ขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงการเข้ารับการรักษา ระลอกแรก 6 วัน ระลอกที่สอง 4 วัน และระลอกที่สาม 1 วัน โดยประมาณ

“ถ้าตีความก็คือระลอกนี้พบว่าค่อนข้างมีอาการ คือมีภาวะการเจ็บป่วยที่แสดงอาการ หรือมีอาการทรุดตัวอย่างรวดเร็ว” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ส่วนระยะเวลาตั้งแต่พบเชื้อจนถึงเสียชีวิต ระลอกแรก 15 วัน ระลอกที่สอง 12 วัน และระลอกที่สาม 12 วัน

“ที่น่าสนใจที่กรมควบคุมโรคย้ำก็คือ ระลอกล่าสุดเดือนเมษายนนี้ 54 ราย เสียชีวิตในวันที่พบเชื้อ หมายความว่าผู้ป่วยเหล่านี้ในขณะที่มีอาการรุนแรงมาถึงโรงพยาบาล ไม่ได้ทราบว่าตัวเองมีอาการป่วยติดเชื้อโควิด และเสียชีวิตในวันเดียวกัน”

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า จากการสรุปในตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้ง 54 ราย ปัจจัยหลักยังเป็นผู้มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง ที่ญาติอาจไม่ได้สังเกตอาการ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจึงสังเกตยาก

สิ่งที่กรมควบคุมโรคแนะนำ ต้องสังเกตระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยซึ่งอาจจะมีอาการซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ตรงนี้เมื่อมีอาการรุนแรงและไปถึงโรงพยาบาลจึงพบว่าติดเชื้อโควิด โดยที่ไม่ได้มีอาการสัมผัสโรคชัดเจน

อีกกลุ่มที่พบว่าเป็นผู้เสียชีวิตภายใน 1 วัน หลังทราบผลติดเชื้อ คือผู้ที่ไม่มีประวัติชัดเจน ไม่แน่ใจว่าไปพื้นที่เสี่ยง อาการเริ่มแรกเล็กน้อย ซื้อยามาทานเอง กักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เวลาที่อาการรุนแรงและไปโรงพยาบาลทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้

“กรมควบคุมโรคจึงแนะนำสถานพยาบาลทุกแห่งว่า หากใครมีอาการโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวขอให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกราย แม้จะไม่มีประวัติสัมผัสผู้ใกล้ชิด หรือไปสถานที่เสี่ยงก็ตาม หรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ แนะนำให้มีอุปกรณ์ตรวจวัดออกซิเจน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว